วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

งานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี


Landmark เมืองดอกบัว "อุบลราชธานี"

เทียนพรรษายักษ์ ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี


ตารางกิจกรรมงาน ๑๑๓ ปี งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ๒๕๕๗
และงานเฉลิมฉลอง ๒๒๒ ปี อุบลราชธานี


        ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาเป็นประเพณีเนื่องในพระพุทธศาสนากระทำกัน ในวันเข้าพรรษา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ในสมัยแรกยังไม่มีประเพณีหล่อเทียน แห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะฝั่นเทียนยาวรอบศรีษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชา จำพรรษา หาน้ำมันไปถวายพระสงฆ์และหาเครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝน ไปถวายพระสงฆ์



        ต่อมาในสมัยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสุธรรมสิมธิประสงค์ เป็นข้าหลวง ต่างพระองค์ที่เมืองอุบลฯ คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่ บั้งไฟมีการทะเลาะวิวาททุบตีกันถึงแก่ความตาย ทรงเห็นว่าประเพณีบุญบั้งไฟไม่เหมาะสมเพราะบางครั้งบั้งไฟแตกถูกประชาชนบาดเจ็บ มีการเล่นคลุกดินคลุกโคลนสกปรกเลอะเทอะ ทั้งไม่ใช้ประเพณีทางศาสนาจึงให้ ยกเลิกประเพณีนี้ เปลี่ยนเป็นประเพณีแห่เทียน เข้าพรรษาแทน

       การแห่เทียนเข้าพรรษาแต่เดิมไม่ได้ทำใหญ่โตเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านร่วมกัน บริจาคเทียนแล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ หากกระดาษสีเงินสีทองเป็นลายฟันปลา บิดตามรอยต่อเสร็จแล้วก็แห่ไปถวายวัด ส่วนการทำเทียนในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท แบบติดพิมพ์ และแบบแกะสลัก

        การทำเทียนแบบติดพิมพ์ 
ใช้เครื่องมืออุปกรณ์มาก ขั้นตอนสลับซับซ้อนโดยวิธีพิมพ์ดอกจากแบบพิมพ์ แล้วนำมาติดกับลำต้น ลวดลายละเอียดเล็กยาว ไม่นูนหนา ลำต้นเทียนเล็กกว่าแกะสลัก



        การทำเทียนแบบแกะสลัก 
วิธีการจะไม่สลับซับซ้อน ลักษณะลำต้นใหญ่กว่าแบบติดพิมพ์ การแกะดอกหรือการแกะสลักหรือการแกะสลักลวดลายจะแกะจากลำต้น ลวดลายมีขนาดใหญ่ นูนหนา ลึกสลักซับซ้อน


        ช่างเทียนคนแรกคือ พ่อโพธิ์ ส่งศรี ส่วนช่างแกะสลักเทียนที่มี ชื่อเสียงในปัจจุบันถ้าเป็นประเภทติดพิมพ์คือ นายประดับ ก้อนแก้ว ช่างเทียนประเภทแกะสลักได้แก่ นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ทั้งสองท่านได้รับ การยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาวิจิตรศิลป์ของ สำนักงาน วัฒนธรรมแห่งชาติ

กำเนิดงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
        อุบลราชธานี ดินแดนแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นถิ่นกำเนิดของพระอาจารย์ทางวิปัสนา คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นต้น กล่าวกันว่า เมือง อุบลราชธานีเป็นต้นรากแห่งการขยายพระพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ให้แพร่หลายยิ่งกว่าในทุก หัวเมืองในภาคอีสาน เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ โดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าว ร่ำลือกันไปว่า เทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวย   ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ จึงเห็นควรให้มีการประกวดเทียนพรรษาก่อน แล้วแห่รอบ เมือง ก่อนจะนำไปถวายพระที่วัด

จากงานประจำปีท้องถิ่นสู่งานประเพณีระดับชาติ
        การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัดก็จัดตกแต่งต้นเทียนของวัดตนให้สวยงาม นำมารวมกันที่บริเวณทุ่งศรีเมืองเพื่อประกวดแข่งขันกัน จากงานของชาวบ้านก็พัฒนามาสู่การสนับสนุนอย่างจริงจังจากส่วนราชการ พ่อค้า ห้างร้านเอกชน ร่วมกับประชาชน ทายกทายิกาคุ้มวัดต่างๆ และใน ปี พ.ศ. 2519 จังหวัดอุบลราชธานีได้เชิญ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ในขณะนั้น) มาสังเกตการณ์ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยเฉพาะในปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand 2541-2542) งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็น 1 ในงานประเพณีที่ถูกโปรโมตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนหลวงมาเป็นเทียนนำชัยขบวนแห่แล้วจึงนำไปถวายยังอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี หมุนเวียนไปเป็นประจำทุกปี


สถานที่จัดงาน บริเวณทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี




บรรยากาศขบวนแห่เทียนพรรษา




ยายเท้าไฟ เซิ้งม่วนๆ

ชุดการแสดงครูธรรมไล่ปอบ

1 ความคิดเห็น: